สุธัมมสถาน
คำสอนหลวงปู่ :ความหมายคำว่า เสื่อม
ขออธิบายคำว่า " เสื่อม " ให้ชัดเจน
บาลี ไม่ได้หมายความอย่างที่ภาษาไทยเข้าใจ
คำว่า " เสื่อม " ในบาลี หมายเอาไปทางเสื่อม ไม่ใช่ว่าเสื่อมไปหรือหมดไป
ผู้มีฌานนั้นต้องมีญาน กำกับด้วยสมาธิสัมปชัญญะ ฌานจึงไม่เสื่อม นี้น่าจะหมายความว่า " ผู้มีปัญญาที่ประกอบพร้อมไปด้วยสติและสัมปชัญญะ จึงจะไม่ใช้สมาธิไปในทางเสื่อม คือ ไม่คิดไม่ทำในสิ่งที่เป็นบาปอกุศล"
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจิตนั้น ปกติจะไหลไปสู่ทางเสื่อม ยิ่งมีอำนาจราชศักดิ์มาก ถ้าขาดสติปัญญา ขาดการอบรมบ่มเพาะ จิตสำนึกในทางงาม ในทางเจริญ ไม่รู้จักตัวตนไม่รู้จักหน้าที่ที่ถูกต้องตามธรรมตามครรลองอันดีงาม ย่อมคิดย่อมทำในสิ่งชั่วบาปอกุศล ด้วยเพราะมีปกติของจิตที่ฝักใฝ่ในทางเสื่อมนี้เป็นธรรมดา
ศีลไม่บริสุทธิ์ สมาธิก็ไปทางเสื่อม เมื่อเอาสมาธิที่เสื่อมไปอบรมจิต จิตนั้นก็ตั้งไปในทางเสื่อม
เมื่อเอาจิตที่ประกอบไปด้วยบาปอกุศลอันเกิดจากสมาธิที่เป็นอกุศล อันมาจากความเข้าใจไม่ถูกในศีล เอากิเลสตนตัดสิน ปัญญาที่ได้รับการอบรมทางเสื่อมจากจิตทราม ปัญญานั้นก็ทราม หนาแน่นไปด้วยบาปอกุศล
การกิจใดๆ ที่สรรสร้างขึ้นก็ล้วนเป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส พอกพูนบาปอกุศล นี่ก็เพราะผู้นั้นขาดสติสัมปชัญญะที่ดีงาม เพราะไม่รู้ในตัวของตน ไม่รู้ในหน้าที่ของตน คิดได้เพียงเพื่อเป็นไปตามกิเลสตนเท่านั้น
ราคะ คือจิตที่ประกอบไปด้วย โลภ โกรธ หลง ทั้งสามนี้ถ้าประกอบอยู่ในจิต ไม่ขัดเกลา ก็นำให้ศีลเสื่อม สมาธิเสื่อม ปัญญาเสื่อม เหตุเพราะจิตเสื่อม
เมื่อจะให้หายเสื่อมก็ต้องเรียนรู้ ศีลที่ถูกต้องบริสุทธิ์ จึงจะสามารถแก้ไขสมาธิให้หายคลายความเสื่อมเพราะวินิจฉัยถูก จิตจึงจะดำเนินไปเพื่อแก้ไขความเสื่อมในจิต คือ กำจัดราคะ ตัวประกอบของราคะที่ร้ายยิ่งนักก็คือ โกรธะ
โกรธะ นี้เป็นหัวจักรใหญ่ที่ทำให้ส่วนต่างๆ ดำเนินไปในทางเสื่อม
ความโลภ มีทั้งดีและเสื่อม
โลภที่ไม่เจือด้วยโกรธะ ย่อมมีคุณ เป็นหัวจักรในการผลักดันให้เจริญ ถ้าขาดโลภ ความเจริญและวิวัฒน์ก็ไม่เกิดขึ้น ย่อมไม่มีคนดี
ย่อมไม่มีผู้รักษาศีลอันบริสุทธิ์
ย่อมไม่มีผู้เจริญสมาธิที่บริสุทธิ์
ย่อมไม่มีผู้เจริญสมาธิถึงญานทัศนะ
ย่อมไม่มีผู้เจริญปัญญาจนถึงอริยะ
ย่อมไม่มีพระอริยะบุคคลเบื้องต้น
ย่อมไม่มีพระโสดาบัน
ย่อมไม่มีพระสกิทาคามี
ย่อมไม่มีพระอนาคามี
ย่อมไม่มีพระอรหันต์
และเพราะความโลภนี้แหละจึงทำให้เห็นความลุ่มหลงที่มีมากหรือกำลังลดน้อยลง
และเพราะความโลภที่ไม่เจือด้วยโกรธะนี้แหละจึงทำให้ความลุ่มหลงหมดไป และเพราะแจ้งแล้วถึงความลุ่มหลงที่ถูกขจัดแล้ว ไม่มีส่วนเหลือแล้ว ความโลภก็ดับไปสิ้นไปในที่สุด
ฉะนั้นการดับเสียซึ่งโกรธะ จึงเป็นกิจอันสำคัญยิ่งสำหรับผู้หวังความเจริญสูงสุด
เมื่อเจริญสติให้คลายโกรธะ ก็ต้องอาศัยสติสัมปชัญญะที่อยู่ในขั้นสูงสุด ที่ได้จากการพิจารณาตนเอง เห็นความผิดชั่วช้าลามกของตนเองเป็นสำคัญ
การเจริญสติสัมปชัญญะให้ดับโกรธะ นั้นต้องพิจารณานิวรณ์ห้าตลอดเวลา ต้องเจริญเมตตาจิตตลอดเวลา เหตุเพราะเมตตาจิตจะทำให้ความตระหนี่ลดลง
เมื่อความตระหนี่ลดลงก็เห็นนิวรณ์ทั้งห้าที่ยังมีมากหรือลดลง กระทำเช่นนี้เป็นประจำ เมื่อนิวรณ์ห้าลดน้อยลงด้วยเหตุแห่งความเจริญเมตตาจิตเป็นประจำ เรียกว่าทุกลมหายใจเข้าออกนั่นแหละ ตัวเจ้าของก็จะเห็นนิวรณ์ทั้งห้าที่มีในตนลดน้อยหรือมากขึ้น
เมื่อเห็นก็แก้ไขดัดตัวของตน
ให้เหมือนอย่างช่างศรดัดลูกศร
ให้เหมือนดั่งช่างไม้ถากไม้ให้ตรง
ให้เหมือนดั่งชาวเหมืองคัดน้ำเข้าเหมือง เข้าไร่เข้านา
เช่นนี้จิตจึงจะเจริญ.....
บุญรักษา
คำสอนหลวงปู่ : ฌานและญานญาน คือ ปัญญา ญานทัศนะ คือ ปัญญาเห็นตามความเป็นจริง ผู้มี " ฌาน " นั้นต้องมี " ญาน " กำกับด้วยสติสัมปชัญญะ ฌานจึงไม่เสื่อม " ญานพึ่งฌาน " " ฌานพึ่งญาน " ทั้งสองต่างพึ่งพากัน แยกกันไม่ได้ ผู้ที่ไม่มี " ญาน " ย่อมไม่เกิด " ฌาน " " ฌาน " ไม่เกิดในผู้ไม่มี " ญาน " ญานจึงหมายถึงปัญญา
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องเรียนหนังสือ เรียนหนังสือเริ่มต้นต้องมีสมาธิ สมาธิไม่มีในคนเขลา จึงเรียนไม่รู้ คนมีปัญญาจึงจะรู้วิธีเรียน จึงตั้งใจ เมื่อตั้งใจ จิตก็จดจ่อ การจดจ่อเป็น " ฌาน " คือสมาธิ ฉนั้น ฌานและญาน จึงหมายถึง สมาธิและปัญญา จึงหมายความว่า ผู้รู้จะไม่เสื่อมจากความรู้ตราบเท่าที่ยังมีปัญญา การไม่เสื่อมก็คือ ไม่หมดไป ยิ่งถ่ายทอดมากเท่าไหร่ ปัญญาก็จะยิ่งเจริญ หลวงปู่จึงให้สอนตัวเองทุกครั้งที่พิจารณาเรื่องใดๆ
วิปัสสนา คือ การนำเอาเรื่องใดๆ มาทำการวิเคราะห์เจาะลึกจนกระจ่าง ไม่มีที่ซ่อนเร้นแล้ว แจ้งแล้ว ความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์จึงไม่มีวันเสื่อมไป " ฌาน " เสื่อมได้ก็เพราะไม่มีปัญญาคือไม่มี " ญาน " ที่เสื่อมก็เพราะมันจมอยู่กับที่ ไม่ก้าวหน้า หรือก้าวหน้าช้ามาก เพราะไม่รู้จักวิธีทำให้เจริญ จึงใช้เวลาฝึกนาน และไม่เข้าใจในสิ่งที่ฝึกจึงท้อและเลิกไปในที่สุด สรุปว่า " ฌาน " ไม่มีในผู้ไม่มี " ญาน " และ " ญาน " จะเกิดไม่ได้ในผู้ไม่มี " ฌาน " ก็คือ สมาธิไม่มี ปัญญาไม่เกิด ปัญญาเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีสมาธิ
บุญรักษา คำสอนหลวงปู่ : สัญญาเวทยิตนิโรธการจะเจริญ " สัญญาเวทยิตนิโรธ " ต้องอาศัยสมาบัติทั้งแปดเป็นเครื่องมือในการเดิน ถ้าก้าวเดินไม่ถูกทางก็ไม่สามารถเจริญสมาบัติเก้าได้ เพราะสมาบัติทั้งเก้าคือ หนทางของนิพพาน เรื่อง " ธัมมาทาส " และ " สังโยชน์สิบ " เอามาวางไว้ให้ได้ศึกษาอิงอ่านเพื่อทำความเข้าใจกับการบรรยายทำความเข้าใจเรื่อง " สัญญาเวทยิตนิโรธ " ซึ่งก็คือ " วิโมกข์เก้า " ที่หลวงปู่โยงให้เข้าใจร่วมกับฌานแปด ซึ่งก็คือ " วิโมกข์แปด " เมื่อทำความเข้าใจได้แล้วจะได้ไม่สับสนกับ " กสินสี่สิบ " ที่เอามาปนเปกันสับสน กสินฝึกได้หลังจากเข้าสู่รูปฌานห้า แล้วหนีจากวิโมกข์ไปเป็น กิเลสตัณหามีหนทางที่อบาย แต่ถ้าฝึกทางวิปัสสนา เดินฌานสี่ คืออรูป และรูป เมื่อละราคะในรูปและอรูปแล้ว จึงสามารถดำเนินวิโมกข์ที่เก้า เมื่อเข้าถึงแล้วด้วยกำลังวิปัสสนาญาน จึงสามารถเข้าถึงกสินได้โดยไม่ต้องฝึกอีก ด้วยเหตุเพราะกิเลสสิ้นแล้วเกินกว่าแปดส่วน อุเบกขาจิตเกิดแล้ว จึงไม่เดินผิด ทิ้งอบายแน่นอน
"ศีล อบรม สมาธิ " "สมาธิ อบรบ จิต" "จิต อบรม ปัญญา"
บุญรักษา คำสอนหลวงปู่ : อากาสานัญจายตนะอรูปพรหมสี่ ในอรูปฌานนี้มีอากาศที่ไม่มีขอบเขตกำหนด และอายตนะในตัวเราเป็นตัวกลางในการรับรู้อารมณ์ที่จิต เช่นนี้เป็นการฝึกรู้ในภายใน มิได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการแสดงฤทธิ์ อันนั้นเป็นเรื่องของกสิน การฝึกนี้เป็นการเรียนรู้เรื่องทุกข์ เมื่อศึกษาเข้าใจทุกข์จนถึงที่สุดจึงจะดับได้สนิทไม่มีส่วนเหลือ เมื่อเราจะศึกษาเรื่องทุกข์จึงต้องรู้ว่าทุกข์นั้นมีลักษณะอย่างไร ทุกข์เมื่อเกิดขึ้นต้องศึกษาทุกข์นั้นให้ถ่องแท้ จึงจะทำที่สุดของทุกข์ได้ ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ กำหนดรู้ในสัณฐานคือองค์ประกอบทั้งหมดของทุกข์ และรู้ในสังขารคือ การปรุงแต่งอารมณ์ของทุกข์นั้น ค่อยๆ แกะไปทีละชิ้น ทั้งองค์ประกอบและการปรุงแต่งอารมณ์ ขุดค้นไปให้ทั่วในทุกข์นั้นจนกว่าจะแจ้ง จนกว่าจะถึงที่สุดของเหตุและปัจจัย เมื่อแจ้งในเหตุและปัจจัยทุกข์นั้นจึงจะดับได้ เอาล่ะแจกแจงเรื่องทุกข์ให้พอสังเขป เพื่อที่จะได้ไม่หลงทาง ไม่เช่นนั้นจะนึกเอาทึกทักเอาว่าอากาศนั้นเป็นเรื่องของฤทธิ์ อากาสานัญจายตนะนี้ เป็นองค์ฝึกฝนทางวิปัสสนาเพื่อให้ดับทุกข์ องค์วิปัสสนาญาน คือ องค์ของปัญญาที่เกิดจากการพิจารณาศึกษาตัวตนของเจ้าของให้มากๆ เพื่อตัวเจ้าของเองจะได้พ้นไปจากวัฏสงสาร ถ้าต้องการฝึกฤทธิ์ ก็ต้องฝึกกสิน
การทำวิปัสสนาในชั้นของอากาสานัญจายตนะนี้ เริ่มแต่การวางจิตให้ตั้งมั่นจนอยู่ในระดับเอกัคคตาจิต คือหมดปราถนาแล้วในขณะนั้น ขั้นตอนที่จะเข้าสู่เอกัคคตาจิตที่ง่ายและรวดเร็วก็อาศัยการละ หรือพิจารณานิวรณ์ห้าให้แจ้งเสียก่อน จากนั้นจิตก็จะสงบ แล้วเมื่อกระทบกับอารมณ์ใด ก็นำเอาอารมณ์ที่กระทบนั้นมาพิจารณาให้ถึงที่สุด ในที่นี้เป็นการฝึกพิจารณาเรื่องอากาสานัญจายตนะ จึงพิจารณาที่ทุกข์อันเกิดแต่อากาศเป็นตัวกลางในการนำเอาอารมณ์จากภายนอกมากระทบกับตัวกลางอีกตัวหนึ่งซึ่งอยู่ในเรา และอยู่ภายนอก ในที่นี้คือ อายตนะ 12
ยกตัวอย่างเช่น อากาศนำเอากลิ่นมากระทบกับจมูก กลิ่น เป็นอายตนะภายนอก จมูกเป็นอายตนะภายใน มีอากาศเป็นตัวนำมา เมื่อกระทบสมบรูณ์แล้ว อารมณ์ที่รับรู้สภาพธัมมนั้นเกิดขึ้นในจิตเรา ไม่ว่าจะพึงใจ หรือ ไม่พึงใจ รวมเรียกว่าทุกข์ ทุกข์ เป็นอิฏฐารมณ์ และทุกข์เป็น อนิฏฐารมณ์ พึงใจเพราะเหตุใด ก็ขุดค้นไปให้ถึงที่สุด ไม่พึงใจเพราะเหตุใด ก็ขุดค้นไปให้ถึงที่สุด จนกระทั่งกลิ่นนั้น กลิ่นนั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ไม่ทุกข์แล้ว นี้จึงเรียกว่าดับทุกข์ได้เรื่องหนึ่งแล้ว ฝึกฝนเช่นนี้กับทุกๆ เรื่อง ทุกๆ อารมณ์ จนหมดสงสัยแล้ว จึงวิปัสสนาเรื่องอื่นๆ ไปจนทั่ว จะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็รวมเรียกว่า กามคุณทั้งสิ้น คือกามคุณห้า ล้วนเป็นตัวชักนำให้ก่อภพทั้งสิ้น เมื่อปราถนาจะสิ้นภพสิ้นชาติ หมดความปราถนาทั้งปวง ก็ทำเช่นนี้ไปจนถึงที่สุดคือ ฌานแปด จากนั้นจึงทำ ฌานเก้า หรือสมาบัติที่เก้า หรือ วิโมกข์เก้า วิโมกข์เก้า คือ การกระทำให้แจ้งในปัญญาชั้นสูงสุด เรียกว่า " สัญญาเวทยิตนิโรธ "
บุญรักษา |